สรุปทองคำไตรมาส 3 ปี 2566
กรกฎาคม - รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อประจำเดือนมิถุนายน 2566 ลดลงเหลือเพียง 3% เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี นักลงทุนลุ้นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติการขึ้นดอกเบี้ย
สิงหาคม – บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาล (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) สหรัฐอเมริกา จากระดับ AAA ลงสู่ระดับ AA+ โดยให้เหตุผลเรื่องฐานะการคลังของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มว่าจะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า
กันยายน - ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ แต่ส่งสัญญาณว่าอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยได้อีกหรือคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%
ในภาพรวมราคาทองคำในไตรมาส 3 ของปี 2566 เป็นการเคลื่อนไหวออกไปทางด้านข้างโดยได้รับแรงหนุนจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่มีการจุดประเด็นด้านความเสี่ยงขึ้นมาเป็นระยะ เช่น การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ยังคงกดดันราคามาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้วก็คือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งยังไม่มีการออกมายืนยันอย่างเป็นทางการจากเฟดเองว่ากำลังจะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้ ในทางกลับกันเฟดยังคงเน้นย้ำในความจำเป็นของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกหากระดับเงินเฟ้อยังไม่ลดลงไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ราคาทองคำในไตรมาสถัดไปจึงโอก่าค่อๆแกว่งตัวลงแต่ไม่น่าลดลงต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์/ออนซ์ เพราะยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิต และส่งออกโดยกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ประกอบกับความเสี่ยงว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่มีมากขึ้นหากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากภาคธุรกิจจะต้องแบกรับต้นทุนภาคการเงินมากขึ้น