ทองไทยจะลงแค่ไหน หากทองโลกลงจริง
ถึงแม้ว่าการปรับตัวขึ้นระลอกล่าสุดของทองคำจะเกิดมาจากความกังวลในเสถียรภาพของธนาคารในสหรัฐฯเป็นหลักซึ่งกรณีล่าสุดคือ ธนาคาร First Republic หลังจากธนาคารอีกสองแห่งคือ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ล่มสลายไปก่อนหน้านี้จากการขาดสภาพคล่องเพราะผู้ฝากเงินถอนเงินออกไปจำนวนมาก
แต่ความเคลื่อนไหวของทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ก็ยังคงยืนยันว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อดึงเงินสดออกจากระบบเสรษฐกิจไปยังพันธบัตรรัฐบาลแทนโดยมีเป้าหมายหลักคือการลดอัตราเงินเฟ้อซึ่งยังไม่ลงไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
ราคาทองคำจึงมีโอกาสปรับฐานหลังจากนี้ได้หากความปั่นป่วนในภาคการเงินไม่ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจึงน่าดึงดูดใจให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนมากขึ้นเพราะประกันผลตอบแทนในขณะที่ความเสี่ยงใกล้เคียงกับทองคำ
อ้างอิงจากการปรับฐานใหญ่ครั้งล่าสุดในช่วงเดือน มี.ค. - ก.ย. ปี 2022 ราคาทองคำร่วงลงจากจุดสูง 2,070 ดอลลาร์/ออนซ์ ลงมาทำจุดต่ำสุดที่ 1,614 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นการปรับฐานกว่า 450 เหรียญ หรือ -28% แต่ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยกลับขึ้นไปทำจุดสูงที่ 31,700 บาท/บาททอง และลงมาต่ำสุดที่ 29,200 บาท/บาททอง หรือคิดเป็น -8.5% เท่านั้นในช่วงเวลาเดียวกัน
สาเหตุหลักมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจาก 32.50 บาท/ดอลลาร์ เป็น 37 บาท/บาทดอลลาร์ ทำให้ต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการซื้อทองคำจากตลาดโลกในปริมาณเท่าเดิม ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทแกว่งตัวอยู่ในกรอบประมาณ 34-35 บาท/ดอลลาร์
ถ้าหากค่าเงินบาทยังแกว่งตัวอยู่บริเวณนี้และปัจจัยอื่นยังไม่เปลี่ยนแปลงแล้วจะช่วยรองรับการลงของราคาทองคำโลกได้พอสมควร สมมุติว่าราคาทองคำโลกปรับฐานลง 20% อีกครั้งหรือลงจาก 2,000-1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ ราคาทองคำแท่งในประเทศไทยจะลดลงไปเหลือประมาณ 30,000 บาท/บาททองเท่านั้น