ทองคำใกล้หมดโลก
สภาทองคำโลก (WGC) ว่า อุตสาหกรรมเหมืองทองคำกำลังเผชิญความท้าทายในการรักษาการเติบโตของการผลิตทองคำ เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำนั้นหายากขึ้น ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ตามข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศ พบว่าปริมาณการผลิตแร่เพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในปี 2566 ซึ่งโตน้อยที่สุดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ปริมาณการผลิตเติบโตขึ้น 1.35% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้ปริมาณการผลิตทองคำทั่วโลกมีการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยลดลง 1% ในปี 2563
อุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังเผชิญปัญหาการเติบโตชะลอตัว หลังจากการเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2551 แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการผลิตทองคำจากเหมืองทั่วโลกแทบไม่เติบโตขึ้นเลย เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำแหล่งใหม่ ๆ ทั่วโลกกำลังหายากขึ้น หลังพื้นที่ที่มีศักยภาพหลายแห่งได้รับการสำรวจไปหมดแล้ว
การลงทุนเหมืองทองคำขนาดใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการดำเนินงาน ทั้งยังต้องใช้เวลานานในการสำรวจและพัฒนา โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลามากถึง 10 - 20 ปี กว่าที่เหมืองจะพร้อมสำหรับการขุดทอง รวมทั้งการสำรวจว่าพื้นที่แห่งนั้นมีโอกาสในการพบแร่ทองคำที่จะนำไปสู่การพัฒนาเหมืองนั้นมีน้อยมาก โดยมีเพียงประมาณ 10% ของแหล่งทองคำที่ค้นพบทั่วโลกเท่านั้นที่มีแร่ทองคำเพียงพอต่อการทำเหมือง
ปัจจุบันมีการขุดทองคำไปแล้วประมาณ 187,000 เมตริกตัน โดยส่วนใหญ่มาจากจีน แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย โดยสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ประมาณการว่า แหล่งทองคำสำรองที่สามารถขุดได้อยู่ที่ประมาณ 57,000 ตัน ในขณะที่กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3,000 ตันต่อปี ซึ่งหมายความว่าแหล่งแร่ทองคำที่มีอยู่จะหมดลงใน 19 ปี
อย่างไรก็ตามข้อมูลของ USGS เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากอัตราการขุดทองคำในปัจจุบันและปริมาณทองคำสำรองที่พิสูจน์แล้วเท่านั้น ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหมดลงของทองคำ
นอกเหนือจากกระบวนการค้นพบแร่และการพัฒนาโครงการเหมืองทองคำขนาดใหญ่แล้ว บริษัทเหมืองแร่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกประการหนึ่ง นั่นคือ กระบวนการขออนุญาตจากภาครัฐ ซึ่งมักมีความซับซ้อน ใช้เวลานานหลายปีเพื่อบรรลุข้อกำหนดต่างๆ
นอกจากนี้โครงการทำเหมืองแร่ทองคำหลายแห่งถูกวางไว้ในพื้นที่ห่างไกลชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า และน้ำ ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มเติมในการสร้างเหมืองเหล่านี้รวมไปถึงการบริหารจัดการทางการเงิน