สงครามดันทองแพง หรือแรงเก็งกำไร
ราคาทองคำโลกพุ่งขึ้นทำจุดสูงใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 เม.ย. 2567 เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ข่าวว่าอิหร่านจะโจมตีอิสราเอลอย่างแน่นอน และการโจมตีก็เกิดขึ้นจริในช่วงดึกของวันที่ 13 จนถึงวันที่ 14 อิหร่านจึงได้ประกาศหยุดโจมตี แต่มีข้อแม้ว่าหากอิสราเอลโต้กลับเมื่อไหร่ก็จะโจมตีกลับไปอย่างรุนแรงมากกว่าเดิม
สถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางจึงมีความเสี่ยงที่สงครามจะยกระดับขึ้นอีกครั้ง โดยทั่วโลกต่างกังวลว่าจะเกิดสงครามรอบใหม่อีก และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อนยเป็นค่อยไปต้องกลับมาทรุดตัวอีก โดยเฉพาะราคาพลังงาน และราคาทองคำ หากสงครามมีแนวโน้มหาทางลงไม่ได้ไม่มีการตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อหาข้อยุติระหว่างกัน หรือมีการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจอาจส่งผลให้เกิดความยืดเยื้อได้
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักวิเคราะห์ตลาดทองคำโลกอีกส่วนหนึ่ง ที่ไม่เชื่อว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็ดี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในเวลานี้ก็ดี ไม่น่าจะใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงและเร็วมากเช่นนี้
เพราะในอดีตที่ผ่านมา ใช่ว่าจะปลอดจากสงครามโดยสิ้นเชิง ในช่วง 20 ปีหรือกว่านั้นที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและยุโรปก็เคยเข้าไปพัวพันอยู่กับสงครามมากมายหลายครั้งหลายหน ทั้งในตะวันออกกลางและอัฟกานิสถาน ความรุนแรงใช่ว่าจะด้อยกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่เคยทำให้ราคาทองคำพุ่งแรงขนาดนี้
นักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ชี้ว่า “ทองคำ” ไม่เพียงเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น แต่เป็นสินทรัพย์ที่ “เก็งกำไร” ได้ด้วยเช่นเดียวกัน และราคาของอะไรก็ตามที่ตกอยู่ภายใต้การเก็งกำไร สามารถขึ้นสูงและลงต่ำได้เสมอ ในหลาย ๆ ครั้งรุนแรงกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำไป
ข้อสรุปของนักวิเคราะห์ในกลุ่มนี้ก็คือ ราคาทองคำในยามนี้แสดงออกถึงภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไร ผสมผสานกับพฤติกรรมไร้เหตุผลของนักลงทุนในตลาดไม่ได้เป็นเครื่องสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตด้านภูมิรัฐศาสตร์แต่อย่างใด