เพชรสังเคราะห์ ทุบราคาเพชรร่วง 40% แล้วจะเกิดกับทองไหม ?
De Beers ธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีรายใหญ่ของโลก ได้ตอบสนองต่อความต้องการเพชรของผู้บริโภคที่ลดลง โดยปรับลดราคาเพชรดิบลง 40% ในไตรมาส 2 ปี 2566 โดยสาเหตุหนึ่งซึ่งอ้างอิงจากแหล่งข่าวอุตสาหกรรมเพชร รายงานว่าความต้องการเพชรสังเคราะห์พุ่งสูงขึ้น ในช่วงผู้บริโภคมีความอ่อนไหวต่อราคาเป็นพิเศษ
ส่งผลให้ธุรกิจเพชรระส่ำอย่างหนัก หลังจากชาวอเมริกันหันไปซื้อแหวนหมั้นจากเพชรสังเคราะห์แทน โดยความต้องการเพชรธรรมชาติลดลงตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด ประกอบกับปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคต่อการซื้อของฟุ่มเฟือย คนจำนวนมากจึงหันมาซื้อแหวนหมั้นเพชรสังเคราะห์ที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ราคาเพชรธรรมชาติราคาร่วงลงอย่างรวดเร็ว
ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับทองคำได้หรือไม่นั้นอาจต้องพิจารณาจากคุณสมบัติพื้นฐานตามธรรมชาติของธาตุทองคำซึ่งเป็นโลหะหนักและมีมวลมากกว่าธาตุคาร์บอนซึ่งประกอบขึ้นมาเป็นเพชรถึง 16 เท่า หากคิดเปรียบเทียบกันง่าย ๆ ว่าจะใช้ความร้อนแบบเดียวกับที่สร้างเพชรซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,000 องศาเซลเซียส มาสร้างทองคำก็จะต้องใช้อุณหภูมิสูงถึง 48,000 องศาเซลเซียส ซึ่งมากกว่าแกนโลกหรือพื้นผิวของดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ตามยังมีวิธีอื่นซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองมาตลอดตั้งแต่ในยุค ค.ศ. 1940 ทั้งการใช้กัมมันตรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไปจนถึงเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อเปลี่ยนธาตุโลหะชนิดอื่นให้เป็นทองคำ แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่ใช้งานได้ เพราะถ้าทองคำที่ผลิตขึ้นมาไม่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีแล้ว กระบวนการที่ใช้ก็จะมีต้นทุนที่สูงมากโดยอาจมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อการสร้างทองคำ 1 ออนซ์
ความเป็นไปได้ในการสร้างทองคำสังเคราะห์ในปริมาณและคุณภาพที่ซื้อขายกันได้ทั่วไปเช่นเดียวกับเพชรจึงยังต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาทางเทคโนโลยีและเงินลงทุนอีกมาก ราคาทองคำจึงยังมีโอกาสขึ้นต่อไปตามความต้องการของมนุษย์ที่ไร้ขีดจำกัด