จับตาราคาน้ำมัน จ่อดันทอง
สื่อทางการซาอุดีอาระเบีย รายงานว่า ซาอุดีอาระเบีย ประกาศขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งได้เริ่มประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเดือน ก.ค. 2566 และหลังจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ได้ประกาศขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวทุกเดือน
นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียแล้ว สมาชิกบางรายของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจรวม 1.66 ล้านบาร์เรลจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่รัสเซีย ประกาศลดการส่งออกน้ำมันจำนวน 300,000 บาร์เรล/วันในเดือน ก.ย. 2566
ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 1.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 86.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 1.04 ดอลลาร์ ปิดที่ 90.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้วทั้ง 2 สัญญาเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566
ราคาน้ำมันถือเป็นตัวแปรสำคัญในต้นทุนสินค้าและบริการส่วนใหญ่ หากความต้องการใช้พลังงานจากน้ำมันยังไม่ลดลงในระยะเวลาอันสั้นนี้ก็เป็นไปได้ว่าจะทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางทั่วโลกพยามมาตลอดทั้งปี
และเงินเฟ้อนี่เองจะเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนหันมาถือทองคำมากขึ้นได้เพื่อรักษาอำนาจซื้อไว้ ในขณะที่เริ่มมีกระแสการตรึงอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะนำไปสู่การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปีต่อไป และจะทำให้ผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นคู่แข่งกับทองคำลดลง