สรุปทองคำไตรมาส 1 ปี 2566
มกราคม - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดซึ่งลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่เคยปรับขึ้น 0.50% มีปัจจัยสนับสนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 4 ขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
กุมภาพันธ์ – รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค. ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ต่ำสุดในรอบ 15 เดือนแต่ยังสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการจ้างงานยังสูงขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้
มีนาคม - ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank - SVB) ซึ่งเป็นธนาคารรายสำคัญที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจสตาร์ตอัปในกลุ่มเทคโนโลยีล้มละลาย จุดกระแสความหวาดกลัวว่าจะลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆในสหรัฐฯ จนกลายเป็นวิกฤตการเงิน ประกอบกับทางฝั่งยุโรปธนาคารเครดิต สวิส กำลังเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องเช่นเดียวกัน ทำให้มีแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างมหาศาล ราคาเพิ่มขึ้นจาก 1,830-2,010 ดอลลาร์/ออนซ์ ในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.50%
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00% และส่งสัญญาณด้วยว่าอาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของมาตรการขึ้นดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อแล้ว
- ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75%
ในภาพรวมราคาทองคำในไตรมาส 1 ของปี 2566 ยังคงถูกกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางฝั่งตะวันตก แต่กระแสความหวาดกลัวในภาคการเงินที่เกิดขึ้นในเดือน มี.ค. ก็ทำให้มีแรงซื้อทองคำเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังอ่อนค่าจึงช่วยหนุนให้ราคาทองคำมาตรฐาน 96.5 ของไทยพุ่งขึ้นจนทำสถิติสูงสุดใหม่ ในประวัติศาสตร์ที่ราคาขายออก 32,150 บาท/บาททองคำเมื่อวันที่ 20 มี.ค.
เป็นอีกหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าทองคำมีความสำคัญต่อการลงทุนโดยรวมของเรา เพราะในช่วงที่สินทรัพย์อื่นถูกเทขายจากความกังวลของนักลงทุน ก็จะมีกระแสเงินทุนไหลมายังทองคำเสมอ ดังนั้การมีทองคำสะสมไว้บ้างในสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยลดความผันผวนและรักษาผลตอบแทนจากแผนการลงทุนโดยรวมของเราได้ในระยะยาว