Morning News Update 20-12-2567 ตลาดทองคำนิวยอร์ก
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (19 ธ.ค.) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า นอกจากนี้ ข้อมูลล่าสุดยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่ง และอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
.
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 45.20 ดอลลาร์ หรือ 1.70% ปิดที่ 2,608.10 ดอลลาร์/ออนซ์
.
เฟดมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาตามคาด แต่ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) นั้น เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 ลงเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% จากเดิมที่ส่งสัญญาณในเดือนก.ย.ว่าจะปรับลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% ในปี 2568
.
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า เฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคตนั้น จะเป็นไปอย่างระมัดระวังและจะขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงหรือไม่ ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเฟดเริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่ภาวะเศรษฐกิจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
.
ทางการสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลที่ออกมาสอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่ว่าเศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้นการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.8%
.
ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 22,000 ราย สู่ระดับ 220,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 229,000 ราย
.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี PCE จะปรับตัวขึ้น 2.5% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนต.ค. และคาดว่าดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 2.9% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนต.ค.
.
ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)