เหมืองเริ่มลำบาก เพราะทองหายาก
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักในการรักษาระดับการผลิต เนื่องจากการค้นพบแหล่งแร่ทองคำเริ่มยากมากขึ้น
ถึงแม้ว่าปริมาณทองคำที่ผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นระยะเวลานาน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ต้องพยายามอย่างหนัก เพื่อประคองระดับการผลิตให้ทรงตัวต่อเนื่อง ปัจจุบัน การค้นพบแหล่งทองคำใหม่กลายเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแร่ทองคำนั้นล้วนได้รับการสำรวจไปหมดแล้ว
ตามรายงานของสภาทองคำโลก ระบุว่า การทำเหมืองแร่ทองคำขนาดใหญ่นั้นต้องใช้เงินทุนสูง อีกทั้งยังต้องลงแรงสำรวจและพัฒนาเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องใช้เวลาเฉลี่ยราว 10-20 ปี ก่อนที่เหมืองจะพร้อมสำหรับกระบวนการผลิต และถึงแม้จะอยู่ในระหว่างกระบวนการสำรวจ แต่โอกาสที่การค้นพบจะก้าวไปสู่ขั้นตอนการทำเหมืองนั้นก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมีประมาณ 10% ของการค้นพบทองคำทั่วโลก ที่มีปริมาณทองคำเพียงพอคุ้มค่าต่อการทำเหมือง ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีการขุดค้นพบทองคำประมาณ 187,000 ตัน โดยส่วนใหญ่มาจากจีน แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งสำนักสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ ระบุว่า แหล่งแร่ทองคำที่สามารถขุดได้นั้น อยู่ที่ประมาณ 5.7 หมื่นตัน
นอกเหนือไปจากกระบวนการค้นพบแหล่งแร่ที่ว่ายากแล้ว การขออนุญาตจากรัฐบาลก็ยากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งในด้านการยื่นขอไลเซ่นส์และใบอนุญาต ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าที่บริษัทเหมืองแร่จะเริ่มดำเนินการได้