Morning News Update : ตลาดทองคำนิวยอร์ก : 27/06/2567

Morning News Update : 27/06/2567 ตลาดทองคำนิวยอร์ก:
.
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (26 มิ.ย.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันวันที่ 2 เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
.
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 17.60 ดอลลาร์ หรือ 0.76% ปิดที่ 2,313.20 ดอลลาร์/ออนซ์
.
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 6.3 เซนต์ หรือ 0.22% ปิดที่ 29.256 ดอลลาร์/ออนซ์
.
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 37.10 ดอลลาร์ หรือ 3.71% ปิดที่ 1,036.10 ดอลลาร์/ออนซ์
.
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 11.00 ดอลลาร์ หรือ 1.17% ปิดที่ 925.20 ดอลลาร์/ออนซ์
.
บาร์ต เมเลค หัวหน้านักกลยุทธ์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์จากบริษัท TD Securities กล่าวว่า ตลาดทองคำยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้
.
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นทะลุระดับ 4.3% ขณะที่ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.42% แตะที่ระดับ 106.052 เมื่อคืนนี้
.
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐที่นักลงทุนจับตาในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2567, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales)
หน้าหลัก ปรึกษาฟรี! คลิกที่นี่ เมนู