20 ปี ทองขึ้นทุกครั้งหลัง “เฟด” ลดดอกเบี้ย
นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 ถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ผ่านการขึ้นดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง โดยทุกครั้งหลังจากที่เฟดประกาศลดอัตราดอกเบี้ยผ่านไป 100 วัน ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นทุกครั้ง และเมื่อเวลาผ่านไปถึง 500 วัน ราคาทองจะปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยกว่า 20% ถึงแม้จะมีความผันผวนหรือการกระชากขึ้นลงของราคาทองที่สูงมากในบางครั้งตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าว
สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาทองคำมักได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เนื่องมาจากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ยของเฟด ดังนั้นเมื่อเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ผลตอบแทนของพันธบัตรฯ ก็จะลดลงด้วย
ในทางกลับกัน หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้นซึ่งจะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการพักเงินไว้ในสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งทองคำก็เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกันแต่เนื่องจากทองคำไม่ได้ให้ดอกเบี้ยระหว่างการถือครอง และยังมีความผันผวนของราคาในระยะสั้น ทำให้ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหักลบอัตราเงินเฟ้อแล้วผลตอบแทนยังเป็นบวกอยู่ ก็จะทำให้นักลงทุนย้ายเงินจากทองคำมายังพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากขึ้น
ดังนั้นในช่วงที่เฟดดำเนินนโยบายลดดอกเบี้ยลง ทองคำจึงสินทรัพย์ที่น่าดึงดูดใจมากขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าปริมาณเงินในระบบที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันนี้ถูกผลิตเพิ่มขึ้นมาตลอดเวลา ถึงแม้จะถูกดึงไปเก็บไว้ในรูปของตราสารทางการเงินอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลฯ ก็ไม่อาจหยุดยั้งแนวโน้มปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้
เมื่อปริมาณเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่จำกัด ย่อมส่งผลให้เงินมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งทองคำคือหนึ่งในสินทรัพย์ที่มนุษย์คุ้นเคยมาหลายพันปีแล้วว่ามีอยู่อย่างจำกัด และหาได้ยาก ประกอบกับคุณสมบัติเด่นด้านกายภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามการเวลา จึงใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ดีถึงการเก็บสะสมของมนุษย์ แม้แต่ธนาคารกลางทั่วโลกในปัจจุบันก็ยังต้องมีทองคำเก็บไว้เป็นหลักประกันความมั่นคงของฐานะการเงินในประเทศตัวเอง