ผลกระทบจากความกังวลว่าสงครามในตะวันออกกลางจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบหายไปจากตลาดโลกและผลักดันให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาทองคำโลกพุ่งสูงขึ้นจนราคาทองคำแท่ง 96.5% ของไทยทำสถิติสูงสุดใหม่ตลอดการที่ 34,250 บาท เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ซึ่งเสริมด้วยแรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า
ก่อนหน้านี้ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงจนทำสถิติใหม่ติดต่อกันหลายครั้ง โดยเกิดขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือน ธ.ค. 2562 และทวีความรุนแรงมากขึ้นจนองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นระบาดใหญ่ในเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งนำไปสู่การประกาศปิดเมืองของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก
ตามมาด้วยเหตุการณ์รัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 จนนำไปสู่การคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันโดยตรงจากรัซเซียโดยกลุ่มชาติพันธมิตรนาโต (North Atlantic Treaty Organisation - NATO) ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงมากขึ้นทั่วโลก และเพิ่มความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
จนกระทั่งวันที่ 8 ต.ค. 2566 กลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์ที่ปกครองฉนวนกาซาได้โจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยใช้ทั้งการยิงจรวดและส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปสังหารพลเรือนในอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ด้านอิสราเอลจึงประกาศสงครามกับกลุ่มฮามาสและโจมตีโต้ตอบซึ่งจุดกระแสความกังวลระลอกใหม่ ว่าความขัดแย้งนี้อาจขยายวงออกไปในตะวันออกกลางและส่งผลต่อราคาน้ำมันเช่นเดียวกับกรณียูเครน
ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านมาจนสิ้นเดือน พ.ย. แล้วแต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการขยายตัวของความรุนแรง หรือแนวโน้มอุปทานน้ำมันที่ลดลงทำให้ความกลัวเงินเฟ้อหมดไป และราคาทองคำเริ่มปรับฐานลงมา โดยราคาทองคำแท่งในประเทศไทยปรับลดลงมากว่า 1,000 บาทจากราคาสูงสุด
แต่ราคาทองคำก็ยังแกว่งตัวอยู่เหนือ 30,000 บาท/บาททอง และอยู่เหนือราคานี้มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 ทำให้ธุรกรรมทองคำส่วนใหญ่ในประเทศเป็นการขายมากกว่าซื้อทองคำ และสร้างภาระทางการเงินให้แก่ร้านทองในประเทศเพราะต้องหาเงินสดมาจ่ายให้ลูกค้าที่นำทองคำมาขายคืน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ร้านทองนั้นประสบปัญหารายได้ที่ลดลงเพราะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้คนทั่วไปลดการซื้อทองคำซึ่งมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ร้านทองจะยังมีกำไรจากการขายทองอยู่บ้าง แต่เมื่อเทียบกับยอดขายที่ลดลง ทำให้มีรายได้ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสวนทางกับต้นทุนด้านอื่นที่ต้องแบกรับ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าบริหารจัดการร้าน เมื่อคำนวณแล้ว ก็อาจไม่คุ้มทุน จนบางร้านต้องเลิกกิจการ ขณะที่บางร้านเป็นธุรกิจในครอบครัวซึ่งไม่มีทายาทสนใจสานต่อ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเลิกกิจการ
นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ ระบุว่า ภาพรวมธุรกิจร้านทองตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาส 3 มียอดขายลดลงกว่า 30% โดยร้านทองขนาดเล็กบางส่วนปิดกิจการ หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นๆ เพราะมูลค่าทองในร้านเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นเงินทุนไปเริ่มต้นธุรกิจอื่นที่ดูมีโอกาสทางธุรกิจสูงกว่า ประกอบกับรายได้จากค่ากำเหน็จ และค่าบล็อก ยังคงเท่าเดิมในขณะที่ราคาทองที่สูงขึ้นมาก จึงทำให้กำไรต่อหน่วยลดลง จึงลดแรงจูงใจของร้านทองที่จะขยับขยายกิจการต่อไป